ค้นหา

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Adobe Presenter คืออะไร และ การสร้างแบบทดสอบด้วย Adobe Presenter

Adobe Presenter  คือ โปรแกรมที่ทำงานร่วมกับ Microsoft Power Point   มีความสามารถในการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะมัลติมีเดียสร้างสามารถข้อสอบหรือแบบสอบถามได้ 
  • ข้อดี ของ Adobe Presenter สามารถใช้งานได้ง่าย ทำได้รวดเร็ว มีความสัมพันธ์กับการแสดงผลของ Microsoft Power Point
  • ข้อเสีย ของ Adobe Presenter คือ เป็นไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากรวมไฟล์ทั้งหมดมาเป็น Packet และไม่รองรับภาษาไทย   
          การสร้างแบบทดสอบด้วย Adobe Presenter นั้นสามารถใส่แบบทดสอบในลักษณะต่าง ๆได้แต่จะนำเสนอการใส่แบบทดสอบแบบเข้าใจง่ายให้แก่ผู้ใช้ ซึ่งจะใช้แบบทดสอบลักษณะ
      (Multiple Choice) คือ คำถามแบบมีให้เลือกหลายคำตอบ 
การสร้างแบบทดสอบ
               การสร้างแบบทดสอบในครั้งแรกนั้น จะมีระบบการตั้งค่าที่เป็นตัวเลือกต่าง ๆ เอาไว้ให้อัตโนมัติ ซึ่งสามารถเข้าปรับแต่งค่าตัวเลือก ๆ ต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสมตามที่ผู้ใช้จะเลือก ซึ่งสามารถปรับได้หรือไม่ปรับได้ตามความต้องการ ในการสร้างแบบทดสอบให้ทำตามขั้นตอนต่อไปที่จะกล่าวขึ้น
   1.คลิกเลือก    เพื่อเริ่มขึ้นตอนการสร้างแบบทดสอบ ซึ่งจะปรากฏหน้าต่างดังต่อไปนี้


   2.เมื่อเลือก Add Quiz แล้วจะมี dialog box ขึ้นมาให้ใส่ชื่อของแบบทดสอบ ซึ่งสามารถใส่ตามค่าที่ตั้งไว้อยู่แล้ว หรือ ใส่ชื่อใหม่ตามต้องการลงไปก็ได้


  3.ให้เลือกตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งของเมนู Required เพื่อวางกลยุทธ์หรือแนวทางให้กับแบบทดสอบของเรา เช่น ต้องการให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบให้ผ่านก่อนถึงจะอนุญาติให้ผ่านแบบทดสอบนี้ไปได้

  4.ให้เลือกค่าที่ต้องการ Set  ให้กับแบบทดสอบ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


  • Allow backward movement อนุญาติให้มีการย้อนกลับไปได้อีก
  • Allow user to review quiz อนุญาติให้ผู้เรียนสามารถดูคำตอบของคำถามหลังทำแบบทดสอบได้
  • Include instruction slide แสดงสไลด์ก่อนการทดสอบ
  • Show score at end of quiz ให้แสดงคะแนนหลังจากที่ทำแบบทดสอบเสร็จ
  • Show questions in outline ในกรณีที่ต้องการให้ขึ้นชื่อสไลด์ที่เป็นแบบทดสอบใน outline
  • Shuffle questions จะมีการสลับลำดับคำถามในแบบทดสอบ
  • Shuffle answers จะมีการสลับลำดับของคำตอบในแบบทดสอบ
   การสร้าง Multiple-choice question slide

          ขั้นตอนการสร้างมีดังต่อไปนี้
              1.ให้เลือกสไลด์ใน PowerPoint ที่ต้องการสร้างแบบทดสอบเอาไว้ก่อน ตัวอย่างเช่น ต้องการสร้างแบบทดสอบในสไลด์ที่ 7 ก็ให้คลิกเลือกสไลด์ที่ 6 เอาไว้


  2.ใน Question Type ให้ทำการเลือก Multiple Choice และให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างน้อย

  • ถ้าต้องการสร้างคำถามที่ให้มีการให้คะแนน ให้คลิกเลือก Create Graded Question
  • ถ้าต้องการสร้างคำถามเพื่อสำรวจความคิดเห็น ให้คลิกเลือก Create Survey


  3.ในช่อง Name ให้ใส่ชื่อของคำถาม หรือว่าใช้ตามที่กำหนดมาให้ก็ได้
  4.ในช่อง Question ให้พิมพ์คำถามที่ต้องการให้แสดงในสไลด์
  5.ในช่อง Points ให้พิมพ์ หรือใช้ปุ่มลูกศรเลื่อนขึ้นลง เพื่อใส่ค่าคะแนนของคำถามในข้อนี้
  6.ในช่อง Answer ให้ใส่คำตอบที่เป็นไปได้ลงไป 
  7.ในช่องช่อง Type จะเป็นรายการให้เลือกได้ว่าลักษณะของคำตอบนั้นจะมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว หรือว่ามีคำตอบที่ถูกต้องได้หลายข้อ
  8.ในช่อง Numbering จะเป็นรายการให้เลือกว่าจะให้ตัวอักษรหน้าคำตอบมีรูปแบบอย่างไร เช่น เป็นตัวเลข เป็นตัวหนังสือ


  9.เลือกแถบ Option
  10.ในช่อง Type ให้เลือกชนิดของคำถามระหว่าง Grade กับ Survey (เป็นทางเลือก)
  11.ให้เลือก Show Clear Button เพื่อให้ผู้เรียนสามารถกดปุ่มเคลียร์คำตอบเพื่อเริ่มทำการตอบคำถามอีกครั้ง
  12.ในช่อง If Correct Answer มีค่าให้เลือกดังต่อไำปนี้
       Action ให้เลือก 1 ใน 3 เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนตอบคำถามถูกต้อง
  • Go to next slide คือ เมื่อตอบคำถามถูกต้องให้ไำปต่อในสไลด์ถัดไป
  • Go to slide คือ เมื่อตอบคำถามถูกต้องให้ไปต่อยังสไลด์ที่กำหนดไว้
  • Open URL คือ เมื่อตอบคำถามถูกต้องให้ไปเปิด URL ตามที่กำหนดเอาไว้
    Go to Next Slide ขึ้นอยู่กับ Action ที่เลือก ซึ่งในช่องนี้จะให้ผู้ใช้ระบุปลายทางที่แน่นอนเอาไว้
    Play Audio Clip เลือกตัวเลือกนี้เพื่อนำเข้าไฟล์เสียง หรือทำการบันทึกเสียงและให้มีการเล่นเสียงเมื่อมีผู้เรียน ตอบคำถามถูกต้อง
  13.ในช่อง If Wrong Answer มีค่าให้เลือกดังต่อไปนี้
    Allow user [#] Attempts ให้ใส่จำนวนครั้งที่ผู้เรียนสามารถทำแบบทดสอบนี้ได้
    Infinite attemps ให้เลือกตัวเลือกในนี้กรณีที่ไม่ต้องการจำกัดจำนวนครั้งในการทำแบบทดสอบ
    Action ให้เลือก 1 ใน 3 เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนตอบคำถามผิด
  • Go to next slide คือ เมื่อตอบคำถามผิดให้ไปต่อในสไลด์ต่อไป
  • Go to slide คือ เมื่อตอบคำถามผิดให้ไปต่อยังสไลด์ที่กำหนดเอาไว้
  • Open URL คือ เมื่อตอบคำถามผิดให้ไปเปิด URL ตามที่กำหนดเอาไว้
    Go to Next Slide ขึ้นอยู่กับ Action ที่เลือก ซึ่งในช่องนี้จะให้ผู้ใช้ระบุปลายทางที่แน่นอนเอาไว้
    Play Audio Clip เลือกตัวเลือกนี้เพื่อนำเข้าไฟล์เสียง หรือทำการบันทึกเสียงและให้มีการเล่นเสียงเมื่อผู้เรียน ตอบคำถามผิด
    Show Error Message เลือกตัวเลือกนี้เพื่อให้แสดงข้อความที่ต้องการ เมื่อผู้เรียนตอบคำถามผิด
    Show Retry Message เลือกตัวเลือกนี้เพื่อให้แสดงข้อความให้พยายามได้อีกครั้ง เมื่อผู้เรียนตอบคำถามผิด
    Show Incomplete Message เลือกตัวเลือกนี้เพื่อให้แสดงข้อความว่าผู้เรียนยังทำข้อสอบไม่ได้สมบูรณ์


     เลือกแถบ Reporting ผู้ใช้สามารถใช้ค่าที่ได้ระบบได้ตั้งเอาไว้ให้ได้เลย หรือจะทำการปรับค่าได้ดังนี้
     Report Answers ให้ส่งข้อมูลการตอบคำถามให้กับระบบการจัดการหลักสูตรของ Adobe Presenter
     Quiz ให้เลือกชื่อของ Quiz ที่ต้องการจากรายการที่มีอยู่
     Objective ID ตัวเลขที่ได้นี้ระบบจะมีการสร้างให้อัตโนมัติ ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขที่ใช้เชื่อมโยงการ            -รายงาน คะแนนจาก Presentation ที่ได้จาก Adobe Presenter ไปยังระบบการจัดการหลักสูตรของ Adobe --Presenter
     Interactive ID จะเอาค่าที่ระบบตั้งมาให้หรือใส่ค่าใหม่เองก็ได้ ถ้าต้องให้ presentation มีการส่งข้อมูล ---ไปยังระบบการจัดการหลักสูตรของ Adobe Presenter ได้ก็ให้ใช้ตัวเลขที่ระบบตั้งให้
     เมื่อเสร็จเรียบร้อยให้คลิก OK และ ปิด Quiz Manager ระบบก็จะทำการสร้างสไลด์ที่เป็นแบบทดสอบมาให้เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เทิดไท้องค์ราชัน



• พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  •



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
 
                    เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
 
                    ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในพุทธ>ศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
 
                    ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
                     ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ และในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
                     ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
                     ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
                     หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ
  • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
  • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐
                     ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในพุทธศักราช ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน


 
“ ...ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหนประเทศใกล้เคียงของเราหลาย ประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่แข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้... ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมเป็นอย่าง ยิ่ง แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ แต่พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยได้อย่างยอดเยี่ยม และยังทรงห่วงใยต่อภาษาไทยอีกด้วย
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในงานวิจิตรศิลป์เป็นอย่างยิ่ง และจิตรกรรมก็เป็นสาขาหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงสนพระราชหฤทัยมากจนกระทั่งได้ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจังเมื่อง พ.ศ. 2502 ซึ่งภาพที่ทรงเขียนส่วนมากจะเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ แต่มักจะเป็นภาพเขียนครึ่งพระองค์ ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มเผยแพร่มากขึ้น เมื่อคราวที่ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพร่วมแสดงในการแสดงศิลปกรรม ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2506 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ปรากฎแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ
 
พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพอย่างจริงจังมาตั้งแต่ยัง ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงศึกษาและฝึกฝนการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง จนเป็นนักถ่ายภาพที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง พระองค์ทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพทั้งภาพขาวดำและภาพสี โดยทรงสร้างห้องมืด (Dark Room) ขึ้นในบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรง “ สร้างภาพ ” ให้เป็นศิลปะอย่างถูกต้องและรวดเร็วด้วยพระองค์เอง
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ปรากฏในหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ในปี พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งถึงการเป็น ช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า “ ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือ
พิมพ์ สแตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักทีเขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาท อยู่เรื่อยมา ”

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ส่วนใหญ่จะเป็นภาพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ อีกทั้งเป็นรูปที่พระองค์ทรงเสด็จราชการตามสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการทรงงาน
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงฝึกฝนวิชาดนตรีอย่างแท้จริง คือการเขียนโน๊ตและบรรเลงแบบคลาสสิก แนวดนตรีที่ทรงสนพระราชหฤทัยคือแนวแจ๊ส (Jazz) ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียงและทรงเปรียบเทียบฝีมือการเล่นดนตรี ต่างๆ จากแผ่นเสียงสไตล์ที่โปรด เช่น สไตล์การเป่าโซปราโน แซกโซโฟนของชิดนี่ เบเซ่ (Sydney Bechet) ออโต แซกโซโฟน ของจอห์นนี่ ฮอดเจส (Johny Hodges) เป็นต้น
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดกีฬามาตั้งแต่ยัง ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงโปรดกีฬาเทนนิส หมากรุก จักรยาน สกี สเกตน้ำแข็ง และฮอกกี้น้ำแข็ง เป็นต้น
ต่อมาพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบ ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เองที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเมื่อ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเรือใบประเภท โอ.เค ขนาด 13 ฟุต ชื่อ เวคา จากหน้าพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีข้นธ์ ข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้ทรงนำธง “ ราชนาวิกโยธิน ” ปักเหนือยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวเตยงาม แล้วได้ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึกข้อความถวายสดุดีแด่พระองค์ท่าน
 
“… ในประเทศไทยนี้ถ้าดูจากสถิติก็มีพลเมืองเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพลเมืองของประเทศไทยนี้อยู่ในวัยเรียนอยู่เป็นส่วนมาก ทุกๆ ปี การที่ส่วนรวมคือ ประชาชนทั้งประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีแล้ว จึงต้องช่วยกันจัดการให้เยาวชน ให้ประชาชนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี เราจะไปอาศัยรัฐบาลหรืออาศัยทางราชการที่จะช่วยให้บ้านเมืองมีความเจริญด้าน เดียวไม่ได้เพราะว่าในสมัยนี้ถือว่าเป็นสมัยประชาธิปไตยทุกคนมีส่วนในงานของ ประเทศชาติ... ”



วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Web 2.0 Design

เรามาดูกันเถอะว่า ส่วนประกอบของดีไซน์ยุคใหม่นั้นมีอะไรกันบ้าง
  1. เรียบง่าย

    ความเรียบง่ายหมายถึงการใช้จำนวน pixel ตามที่ต้องใช้เพื่อให้สื่อสารสิ่งที่ต้องการให้ได้และในการสื่อสารนั้นก็ประกอบไปด้วย ข้อมูลหลัก hard data และ เนื้อหาที่ซ่อนอยู่ soft information
    ตัวอย่างของข้อมูล
    • Hard data – ข้อมูล สาระ เนื้อหาสำคัญที่ต้องการจะสื่อ เช่น ข่าว ราคาสินค้า ตารางเวลารถไฟ
    • Soft Information – ความรู้สึก บรรยกาศของหน้าเว็บ เปรียบเทียบได้กับความรู้สึกเมื่อแรกพบของผู้ชมที่มีต่อเว็บ ว่าน่าไว้ใจแค่ไหน จะเหมาะสมกับผู้ใช้หรือไม่

    ตัวอย่างที่ดี


    ดี เพราะ ละเอียด ตื่นตา น่าสนใจ แต่ก็เรียบง่ายในขณะเดียวกัน

    ตัวอย่างที่ไม่ดี



    ไม่ดี เพราะ ยุ่งเหยิง มีขีดเส้นมากมายที่ไม่ได้ช่วยเป็นส่วนประกอบในการสื่อสาร หาเมนูได้ยากไม่โดดเด่น มีลายเส้นที่เบี่ยงเบนความสนใจของสายตามากไป
  2. เนื้อหาอยู่กึ่งกลาง

    จากที่เคยกล่าวถึงไปเมื่อบทความก่อนหน้านี้ evolution of css layout ว่าหน้าเว็บในปัจจุบันเริ่มถูกออกแบบให้มีเนื้อหาอยู่กึ่งกลาง ตอนนี้เราก็สรุปได้แล้วว่าการวางเนื้อหาไว้ตำแหน่งกลางหน้าเว็บนั้น เป็นหลักการออกแบบที่ดีของดีไซน์ยุค 2.0
    ซึ่งเหตุผลก็คือ การวางเนื้อหาไว้กึ่งกลางหน้าเว็บนั้น สามารถแสดงถึงความเรียบง่าย และตรงไปตรงมาได้ และจากการที่เราใช้จำนวน pixel อย่างประหยัดทำให้เราไม่ถูกกดดัน ให้ยัดเยียดเนื้อหาจำนวนมาก ไว้ในพื้นที่เล็กๆ เราสามารถสื่อได้มากกว่าจากความเรียบง่าย และเหตุผลเดียวที่เราอาจจะไม่เลือก ที่จะออกแบบเนื้อให้อยู่กึ่งกลางหน้าเว็บ คือ กรณีที่เราต้องการยัดเนื้อหาไว้ในหน้าเว็บเยอะๆ อย่างเช่น หน้าเว็บของ web application
  3. น้อยคอลัมน์

    เมื่อไม่กี่ปีก่อนเราจะเห็นหลายๆเว็บแบ่งเนื้อหาในหน้าเว็บเป็น 3-4 คอลัมน์ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้แค่ 2 คอลัมน์ หรืออย่างมากก็ 3 เข้าข่ายยิ่งน้อยยิ่งดี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่จัดให้หน้าเว็บอยู่กึ่งกลางจอด้วย ทำให้เราไม่ต้องบรรจุเนื้อหาให้เต็มหน้าจอ และเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้คอลัมน์จำนวนมากในการสื่อสาร แค่ใช้คอลัมน์ที่จำเป็น ที่ได้เลือกและคัดสรรค์มาแล้ว ทำให้เรียบง่ายกว่า ตรงไปตรงมา และสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากว่า

    ตัวอย่างที่ดี


    ดี เพราะ คอลัมน์ที่เลือกใช้ เป็นคอลัมน์ที่ได้คัดสรรค์เลือกมาอย่างดีแล้ว ว่าคอลัมน์นั้นๆเป็น คอลัมน์ที่จำเป็นต้องมี

    ตัวอย่างที่ไม่ดี


    ไม่ดี เพราะ แต่ละคอลัมน์ไม่มีอะไรโดดเด่นขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถกำหนดได้ว่าควรจะมองที่ตรงไหนก่อน ทุกคอลัมน์มีความสำคัญเท่ากันหมดซึ่งทำใหดูกลืนเข้าไปในหน้าเว็บ

    ตัวอย่างที่ใช้หลายคอลัมน์ได้


    ที่สามารถใช้ได้หลายคอลัมน์เพราะแต่ละคอลัมน์ได้ถูกออกแบบ แยกสัดส่วนมาอย่างชัดเจน ว่าด้านซ้ายเป็นเมนู ตรงกลางเป็นสินค้าซึ่งถูกแบ่งโดยช่องว่าง ทำให้ไม่ดูรกตา
  4. แยกส่วนหัวของหน้าเว็บอย่างชัดเจน

    หมายถึงการทำให้ส่วนหัวของหน้าเว็บซึ่งหมายถึงส่วนโลโก้และเมนู โดดเด่นขี้นมาจากส่วนอื่นๆ
    เทคนิคนี้ไม่ใช่อะไรที่ใหม่ มีการประยุกต์ใช้มานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ดี แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้มากขึ้นเป็นพิเศษ และได้มีการแบ่งสัดส่วนอย่างขัดเจนมากขึ้นดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้


    การแบ่งสัดส่วนหัวของหน้าเว็บไว้อย่างชัดเจนนั้นดีตรงที่ ได้แบ่งสัดส่วนให้แน่ชัดว่าส่วนไหนคือส่วนเริ่มของหน้าเว็บ ซึ่งเป็นการเน้นหลักการดีไซน์สไตล์ยุค 2.0 ที่ต้องการแสดงเนื้อหาอย่างหนักแน่น เรียบง่ายและตรงไปตรงมา
    และการแยกส่วนหัวของหน้าเวปนั้นสามารถทำได้หลายวิธีเช่น ใช้สีที่โดดเด่นแตกต่างจากเนื้อหาที่เหลือดังเช่นตัวอย่างข้างต้น หรือจะใช้เส้นขีดแบ่งดังตัวอย่างต่อไปนี้ก็ได้

    หรือจะแค่วางโลโก้ไว้ข้างนอกเนื้อหาดังตัวอย่าง
  5. แยกส่วนต่างๆของหน้าเว็บอย่างชัดเจน

    ส่วนต่างๆของหน้าเว็บประกอบไปด้วย
    • เมนู
    • พื้นหลัง
    • เนื้อหา
    • ส่วนอื่นๆ
    • ลิงค์
    การที่จะจัดกลุ่มแบ่งแยกส่วนต่างๆได้อย่างชัดเจนที่สุดคือการเล่นสี


    แต่การใช้ช่องว่างก็สำคัญไม่แพ้กัน
    ข้อควรระวังของการเล่นสีคือ สีสรรคต่างๆจะดึงดูดความสนใจไปจากเนื้อหาที่สำคัญ ดังนั้นการวางเนื้อหาลงบนผืนผ้าใบที่ขาวสะอาดจะช่วยให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  6. เมนูเรียบง่าย

    เมนูหลักของหน้าเว็บควรมีสักษณะโดดเด่น สังเกตุเห็นและมองออกได้ง่ายว่าเป็นเมนู โดยการใช้ font ที่หนาใหญ่สะอาดและชัดเจน รวมถึงลิงค์ต่างๆในเนื้อหาควรดูโดดเด่นแตกต่างจากเนื้อหาที่เหลือ

    เพราะ เราต้องการให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์ของเราบอกได้ว่าส่วนไหนเป็นเมนู เพื่อให้รับทราบถึงข้อมูลต่างๆว่า
    • ตอนนี้อยู่ที่จุดไหนแล้ว
    • สามารถไปที่ไหนได้อีก
    • แสดงทางเลือกต่างๆให้ชัดเจน
    เราสามารถทำให้เมนูดูโดดเด่นได้โดย
    • แยกส่วนออกมาจากเนื้อหา
    • ทำให้ดูแตกต่าง โดยใช้โทนสี และรูปร่าง
    • ใช้ตัวใหญ่และหนา
    • ใช้ภาษาที่ชัดเจนและเป็นสากลเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
    สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ลิงค์และเมนูดูโดดเด่นแตกต่างจากเนื้อหาส่วนที่ไม่ได้เป็นลิงค์
  7. โลโก้ตัวหนา

    สอดคล้องไปกับหลักการดีไซน์ยุค 2.0 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนและหนักแน่น
    ตัวอย่างโลโก้ดังต่อไปนี้เป็นขนาดจริง สังเกตุได้ว่าขนาดจะค่อนข้างใหญ่

    คุณสมบัติของโลโก้
    • แสดงออกให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน
    • จำได้ง่ายและแตกต่าง
    • เป็นตัวแทนภาพลักษณ์
  8. ตัวอักษรตัวใหญ่

    เว็บดีไซน์ยุค 2.0 มีการใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับเว็บสไตล์เก่าๆ การที่เราไม่ได้พยายามยัดเยียดเนื้อหาทำให้เรามีพื้นที่มากขึ้น และทำให้สามารถที่จะเลือกทำให้สิ่งสำคัญมีขนาดใหญ่กว่าสิ่งที่ไม่สำคัญ ซึ่งตัวอย่างการใช้งานที่ผ่านมาได้แก่การใช้ตัวอักษรใหญ่สำหรับหัวข้อต่างๆ
    การใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนสายตาสั้น ผู้อ่านที่อ่านผ่านๆ ผู้คนที่นั่งห่างไกลจากจอ หรือผู้ใช้จอ LCD ภายใต้แสงแดด


    ถึงกระนั้นเราก็ควรมีเหตุผลในการกำหนดว่าส่วนไหน ควรจะใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ ให้ใช้เฉพาะกับส่วนที่สำคัญ เพื่อกำหนดความโดดเด่นหลังจากที่ได้เคลีย พื้นที่แล้ว ไม่ใช่สักแต่ว่าทำให้ดูใหญ่ไปหมด จะทำให้ดูรก และไม่ได้ผล ถ้าต้องการจุเนื้อหาที่มีความสำคัญพอๆกัน จำนวนมากควรคงขนาดตัวอักษรให้ตัวเล็กเท่าๆกัน
  9. ตัวอักษรแนะนำตัวหนา

    เป็นการสื่อข้อความหลักของเนื้อหา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวอักษรกราฟฟิกมากกว่าตัวอักษรธรรมดา เนื่องจากนักออกแบบต้องการจะควบคุมสิ่งที่หน้าเว็บต้องการจะสื่ออย่างชัดเเจน


    แนะนำให้ใช้เมื่อเป็นสโลแกนหลักเท่านั้น
  10. สีสันสดใส

    สีสันที่สดใสมีคุณสมบัติในการดึงดูดสายตา เราสามารถใช้สีที่ตัดกันแบ่งส่วนต่างๆของหน้าเว็บ หรือกำหนดให้ส่วนที่สำคัญดูโดดเด่นขึ้นมาได้


    แต่ก็ควรระวังไม่ใช้สีสดเกินไปล้อมรอบเนื้อหา เพราะจะทำให้สายตาถูกดึงหนีไปจากเนื้อหาหลัก ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

    แล้วก็อย่าลืมว่าการที่จุดนึงในหน้าเว็บจะดึงดูดสายตาได้ด้วยสีสันที่สดใส สีในจุดอื่นๆก็ควรจะอ่อนลงตามความสำคัญ มิฉะนั้นจะทำให้หน้าเว็บดูสับสนและยุ่งเหยิง
  11. มีลูกเล่นบนพื้นผิว

    ลูกเล่นต่างๆบนพื้นผิวไม่ว่าจะเป็นการเล่นแสงเงาหรือการไล่สีให้เป็นสามมิติเล็กน้อย ทำให้ภาพกราฟฟิคต่างๆดูเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยและดูเสมือนวัตถุจริง ไม่ว่าจะเป็น คาร์บอนไฟเบอร์

    หรือพลาสติกเงา

    เทคนิคนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อเราทำให้หน้าเว็บมีส่วนที่เป็นสามมิติเพียงเล็กน้อยเพื่อเน้นความโดดเด่นเท่านั้น การทำให้ทุกอย่างเป็นสามมิติไปหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะจะลดความเด่นของสิ่งที่เราต้องการที่จะเน้น และทำให้โหลดช้า
  12. ไล่เฉดสี

    การไล่เฉดสีสามารถ สร้างมิติ และ กำหนดบรรยากาศของหน้าเว็บได้


    มีการนำมาใช้ให้ดูเป็นเงา หรือนำมาใช้บนปุ่มเมนู
  13. เงาสะท้อน

    มีหลักๆอยู่ 2 แบบคือ
    • เงาสะท้อนบนพื้นผิวของตัววัตถุเอง
    • และเงาสะท้อนบนพื้นผิวที่วัตถุวางอยู่
    หรือจะนำมาประยุกต์ใช้ให้วัตถุมีเงาสะท้อนบนกลับไป บนพื้นผิวของตัววัตถุเอง ก็จะได้ภาพกราฟฟิคที่น่าสนใจและสวยงาม
  14. Icon น่ารัก

    ไอคอนต่างๆมีบทบาทมากขึ้นในดีไซน์ยุค 2.0 ปัจจุบันเราเลือกที่จะใช้ไอคอนจำนวนน้อยลง แต่มีความหมายมากขึ้น
    การใช้ไอคอนจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมองออกได้ง่าย และสื่อสารความหมายได้อย่างชัดเจน
    ในอดีตได้มีการใช้ไอคอนมากเกินไป เช่นใช้กับทุกเมนูที่มี ซึ่งปัจจุบันเรานิยมที่จะใช้ตัวอักษรที่สื่อความหมาย ได้อย่างชัดเจนกว่าและไม่ทำให้หน้าเว็บรกไปด้วยไอคอน
    เราจะนำไอคอนมาใช้ในจุดที่สำคัญเท่านั้น
  15. ป้ายดาว

    ควรใช้เพื่อดึงดูดสายตาไปยังสิ่งที่สำคัญจริงๆเท่านั้น และไม่ควรใช้เกิน 1 ดาวต่อ 1 หน้า


ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้หลักการพวกนี้ทั้งหมด เพื่อให้เว็บมีหน้าตาเป็น 2.0 และการใช้หลักการออกแบบดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้หน้าเว็บ มีรูปแบบที่ดีเสมอไป แต่การออกแบบหน้าเว็บให้มีความเหมาะสม และพอดีกับเนื้อหา และสิ่งที่ต้องการจะสื่อต่างหากที่สำคัญ